วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นวนิยายและภาพยนตร์ Sci – Fi

ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือนิตยสาร สสวท. กับวิชาการดอทคอม
ที่มา : นิตยสาร สสวท.

www.ipst.ac.th




                                                  
                                              Jules Gabriel Verne

       โลก รู้จัก Jules Gabriel Verne ผู้เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2371 ที่เมือง Nantes ในฝรั่งเศส ว่าเป็นนักเขียนวนนิยายวิทยาศาสตร์กว่า 60 เล่ม ผลงานของเขาทำให้นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักสำรวจ รวมถึงวิศวกรและสังคมทั่วไปตื่นตัวมาก เพราะนวนิยายที่ Verne เขียนสมจริง ละเอียด และมีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการผจญภัยที่ได้สอดแทรกความรู้วิทยาศาสตร์ลง ไปด้วย
          


                                                                               Jules Gabriel Verne

        การศึกษาประวัติของ Verne ทำให้รู้ว่าเมื่อ Verne อายุ 20 ปี บิดาได้ส่งไปเรียนกฎหมายที่ปารีส ถึงจะเรียนสำเร็จตามที่บิดาต้องการ แต่ Verne ได้พบว่า เขารักที่จะเขียนนวนิยายมากกว่าที่จะเป็นทนายในศาล Verne จึงเลิกอาชีพทนาย แล้วหันมาหารายได้ โดยการเขียนบทละคร กาพย์ กลอน และนวนิยาย เรื่องสั้นแทน
   

      
        ฝรั่งเศสในสมัยนั้นเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์กำลังเฟื่องฟู มีการสำรวจดินแดนแพร่หลาย อุตสาหกรรมกำลังขยายตัว และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรคือวีรบุคคลของประเทศ และเมื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนไม่ได้ให้ความรู้วิทยาศาสตร์ แก่นักเรียนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ประชาชนซึ่งกระหายอยากเรียนรู้วิทยาศาสตร์มาก จึงต้องอาศัยการอ่านนวนิยายวิทยาศาสตร์แทน
          


                                                                               Jules Gabriel Verne
       
       นวนิยายวิทยาศาสตร์เล่มแรกของ Verne ชื่อ Five Weeks in a Balloon ขณะเขียนหนังสือเล่มนี้ Verne ได้อาศัย Jacques Arago นักฟิสิกส์มาสอนแนะเทคนิคและวิธีควบคุมบอลลูนจนรู้พอที่สามารถเขียนการเดิน ทางโดยใช้บอลลูนได้อย่างสมจริง และนวนิยายเรื่องนี้ก็ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี เพราะคนฝรั่งเศสยุคนั้นสนใจการสำรวจและการผจญภัยต่างแดนมาก
          



       ในปี 2407 Verne ได้เขียนนวนิยายเรื่อง Journey to the Center of the Earth  ซึ่งเกี่ยวกับการผจญภัยของศาสตราจารย์ Lidenbrock และหลาน Axel ใต้โลก และได้เห็นสัตว์ประหลาด รวมทั้งภูมิประเทศที่แปลกมหัศจรรย์มากมาย และเมื่อประชาชนกำลังสนใจธรณีวิทยา และบรรพชีวินวิทยามาก การผสมผสานจินตนาการกับวิทยาศาสตร์ จึงทำให้นวนิยายนี้ติดอันดับหนังสือขายดีทันที
          



       ในปีต่อมา Verne ได้ประพันธ์เรื่อง From the Earth to the Moon ซึ่งให้ความรู้เรื่องสภาพไร้น้ำหนักและการเสียดสีกับบรรยากาศโลกของยานอวกาศ ขณะเดินทางจากโลกและสู่โลก เพราะเทคโนโลยีจรวดในสมัยนั้นยังไม่มี ดังนั้น Verne จึงใช้ปืนใหญ่ยิงยานอวกาศให้พุ่งไปตกบนดวงจันทร์แทน
         



                                                 Twenty Thousand Leagues under the Sea
     

        ก่อน Verne เกิด 28 ปี Robert Fulton  ได้ประสบความสำเร็จในการออกแบบเรือดำน้ำ ชื่อ Nautilus ที่ปารีส ความตื่นเต้นในการเห็นเรือดำน้ำทำให้ Verne สนใจเรื่องเดินเรือมาก จึงเขียนนวนิยายเรื่อง Twenty Thousand Leagues under the Sea ซึ่งเกี่ยวกับการเดินทางใต้ทะเล โดยเรือดำน้ำชื่อ Nautilus
        



                                                             Around the World in Eighty Days
     

       นวนิยายที่ทำให้ Verne ร่ำรวยมากที่สุดคือ นวนิยายเรื่อง Around the World in Eighty Days (80 วันรอบโลก) ซึ่งเขียนในปี 2415 จากการได้อ่านตำราภูมิศาสตร์หลายเล่ม และก็เขียนได้ดี จนทำให้เรา ณ วันนี้รู้ว่า ถ้าเขาไม่เป็นนักประพันธ์เขาก็คงมีอาชีพเป็นนักภูมิศาสตร์แน่ ๆ หนังสือ 80 วันรอบโลกนี้ขายได้มากถึง 108,000 เล่ม และได้รับการชื่นชมจากคนอ่านมาก เพราะในเวลานั้น Ferdinard de Lesseps เพิ่งขุดคลอง Suez เสร็จ และชาวยุโรปกำลังสนใจการเดินทางไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
          



        นอกจากนี้ Verne ก็ยังได้เรียบเรียงนวนิยายวิทยาศาสตร์อีกหลายเล่ม เช่น Around the Moon, The Mysterious Island ซึ่งมีเฮลิคอปเตอร์ และดาวเทียมการศึกษาผลงานของ Verne ทำให้เรารู้ว่าเขาได้รับอิทธิพลในการเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์จาก Edgar Allan Poe
          



      ในยามว่าง Verne ชอบแล่นเรือใบ และเมื่ออายุได้ 36 ปี Verne ถูกคนสติเสียยิง ทำให้ขาพิการ แต่เขาก็ยังพำนักอยู่ที่เมือง Amiens ต่อไป ในบั้นปลายชีวิต Verne ป่วยหนัก เมื่อตาเป็นต้อหินเขาจึงรู้สึกเศร้าซึมมาก Verne เสียชีวิต เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2448 ขณะอายุ 78 ปี
          



       ในปี 2540 เหลนของ Verne ได้พบนวนิยายเรื่อง Paris in the 20th Century ของ Verne ซึ่งไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน นวนิยายเล่มนี้ กล่าวถึงตึกระฟ้า รถไฟความเร็วสูง เครื่องคิดเลขและโทรสาร ซึ่งอุปกรณ์และวัตถุเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราทุกวันนี้มีและใช้ แต่นวนิยายนี้แตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ ของ Verne ตรงที่ว่า Verne กล่าวถึงผลกระทบของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแง่ลบ
          



        ในภาพรวม ผลงานที่สำคัญของ Verne คือการบุกเบิกทำให้นวนิยายวิทยาศาสตร์เป็นการประพันธ์รูปแบบหนึ่งที่สังคมยอมรับ

       
เมื่อถึงปี 2468 Hugo Gernsback ได้เป็นบุคคลแรกที่คิดคำ scientifiction แต่คำนี้ในเวลาต่อมาได้แยกออกเป็น science กับ fiction ซึ่งแปลว่า ปลอมแปลง เลียน หรือแสร้ง ดังนั้น science fiction  จึงหมายถึงการใช้หลักวิทยาศาสตร์เป็นตัวควบคุมจินตนาการว่า สิ่งใดหรือเหตุการณ์ใดเป็นไปได้ หรือไม่ได้ และเมื่อการค้นคว้าวิทยาศาสตร์เองก็ต้องอาศัยจินตนาการด้วย ดังนั้น science กับ fiction  จึงเป็นเรื่องที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะวิชา theoretical physics  หรือ ฟิสิกส์ทฤษฎีแล้ว ต้องอาศัยจินตนาการมาก เช่น แสงมีสมบัติของคลื่นและอนุภาค หรือ เราสามารถยีดและหดเวลาได้ หรือในกรณีนักคณิตศาสตร์ เช่น Euclid  กล่าวถึงจุดว่า ไม่มีขนาด และระนาบไม่มีความหนา เวลา Einstein ใช้การทดลองในจินตนาการว่าคนกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้แสง และมีจินตนาการว่า ธรรมชาติมี 4 มิติ หรือทฤษฎี superstring อธิบายว่าธรรมชาติมี 10 มิติ และอนุภาค tachyon มีความเร็วยิ่งกว่าแสง เป็นต้น เหล่านี้เป็นจินตนาการ


                                                       The Day After Tomorrow
      
      นอกจากหนังสือวิทยาศาสตร์และนวนิยายวิทยาศาสตร์แล้ว มาบัดนี้เราก็มีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมาก เช่น ภาพยนตร์เรื่อง The Day After Tomorrow ของ Roland Emmerich แห่ง Hollywood ซึ่งแสดงความหายนะที่เกิดที่มหานคร New York เพราะถูกคลื่นยักษ์ซัดจนท่วมอนุสาวรีย์เสรีภาพ และอากาศที่หนาวจัดจนนคร New York มีหิมะและน้ำแข็งปกคลุมหนาเป็นเมตร ส่วนที่ Los Angeles นั้นก็ถูกพายุทอร์นาโดพัดถล่มมาจนราบเรียบ
          


        ในการดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ถ้าคนดูยึดหลักวิทยาศาสตร์ เขาก็จะรู้ว่า เหตุการณ์หนาวจัดเกิดเร็วเกินไป แต่ถ้าจะให้เป็นไปตามความจริง (1,000 ปี ) ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่มีใครดู ภาพยนตร์จึงรวบรัดเวลาและเหตุการณ์ให้เหลือเพียง 1 สัปดาห์ หรือในกรณีคลื่นยักษ์ที่สูง 20 เมตร ดังที่เห็นในภาพยนตร์นั้นก็ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ แต่เกิดจากแผ่นดินไหวมากกว่า หรือเวลานกบิน แล้วร่วงตกลงมาเพราะแข็งตายเรื่องนี้ผิดหลักฟิสิกส์ แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น fiction  ที่ทำให้ผู้เข้าชมและคนทั่วไปสนใจ และเข้าใจประเด็นร้อนที่ Emmerich นำเสนอภายในเวลา 2 ชั่วโมงอย่างได้ผลมาก


                                                                       Superman
     
     สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Superman นั้นก็เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะให้ข้อคิดวิทยาศาสตร์มาก เช่น  ถ้า  Superman  ถือกำเนิดบนดาว Krypton ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงมากกว่าโลก 15 เท่าแล้วเหตุไฉน Krypton จึงไม่เป็นดาวแก๊ส เช่น ดาวพฤหัส หรือดาวเสาร์  และการที่ Flash Gorclon ผู้เป็นเพื่อนของ Superman สามารถวิ่งด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสงนั้น เขากินอาหารประเภทใดจึงสามารถให้พลังงานแก่ร่างกายได้มากถึงเพียงนั้น
        
          



                                                                     Armageddon

             และในกรณีภาพยนตร์เรื่อง Armageddon ที่มีดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกนั้น เรื่องมีว่า พระเอก Bruce Willis ได้เดินทางไปลงบนดาวเคราะห์น้อย แล้วเอาระเบิดปรมาณูใส่ในหลุมที่เจาะบนดาว การระเบิดทำให้ดาวเคราะห์น้อยแตกออกเป็นสองส่วน ทำให้โลกปลอดภัย แต่ถ้าเราใช้หลักฟิสิกส์เรื่อง หลักความถาวรของโมเมนตัม และหลักการของพลังงาน รวมถึงรู้พลังงานของระเบิดปรมาณู และขนาดของดาวเคราะห์น้อย เราก็จะรู้ทันทีว่า หนังเรื่องนี้สร้างผิดความจริงทางวิทยาศาสตร์









                                         

       ส่วนภาพยนตร์เรื่อง A Space Odyssey ของ Stanley Kubrick นั้น วงล้อของยานอวกาศ มีรัศมีประมาณ 100 เมตร และยานอวกาศหมุนรอบตัวเองอย่างช้า ๆ ทำให้เกิดแรงโน้มถ่วงประดิษฐ์ที่มีค่า ทั่วทั้งยานประมาณ 1 g  ดังนั้นนักบินอวกาศทุกคนในยานจึงเดินเหินได้อย่างสะดวกสบายเหมือนอยู่บนโลก และภาพยนตร์เรื่อง Contact ที่อาศัยเค้าเรื่องของ Carl Sagan นั้น ก็มีความรู้วิทยาศาสตร์มากมายโดยเฉพาะเรื่อง wormhole และการเดินทางย้อนกาลเวลา แต่ภาพยนตร์เรื่อง The Core ที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการให้เปลือกโลกหยุดหมุน โดยพลังระเบิดนิวเคลียร์นั้น ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง กฎฟิสิกส์แทบทุกกฎต้องมีการเขียนและการเรียนกันใหม่
 


       สุดท้ายคือ ภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenient Truth ซึ่งผลิตโดย Paramount Pictures ในปี 2549 และมี Al Gore อดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐเป็นผู้บรรยายภาพยนตร์นี้มีเพื่อนของ Gore ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เป็นผู้ให้ข้อมูลและภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศอันเกิดจากอิทธิพลของ โลกร้อน ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างความฮือฮาให้ผู้ชมรู้สึกระแวดระวังภัย จนได้รับรางวัล Oscar ประเภทภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมประจำปี 2550 และมีส่วนทำให้ Al Gore ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพประจำปี 2550 ครึ่งหนึ่งด้วย


      ใน สมัยก่อน คนเราเคยมีความคิดว่า การไปดูภาพยนตร์ คือการหลบหนีความจริง หลายคนจึงไปดูเพราะคาดหวัง จะได้ความสุข ความตื่นเต้น หรือได้ความคิดดี ๆ ที่ประทับใจ ถึงภาพยนตร์จะมีหลายชนิด เช่น ภาพยนตร์ผจญภัย ภาพยนตร์ชีวิต ภาพยนตร์สงคราม ภาพยนตร์ฆาตกรรม ภาพยนตร์เพลง ฯลฯ  แต่ภาพยนตร์ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนมีความรู้วิทยาศาสตร์ไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าบทภาพยนตร์ดี คนแสดงเด่น และ Special Effects เยี่ยม ภาพยนตร์ก็จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ครูได้ใช้สอนวิทยาศาสตร์อย่างสนุกและให้ เด็กนักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์อย่างเพลิดเพลิน รวมถึงประชาชนได้เข้าใจและตระหนักในความสำคัญของวิทยาศาสตร์ในชีวิตด้วย

                                                       
                                                ____________________________________


                         Sampan Chanpa

1 ความคิดเห็น: