วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

คลี่ฟิล์มส่องภาพ 2



                                                 ส่องภาพแล้วมองฟิล์ม



     เมื่อย้อนความจำถึงบริษัีทที่ส่งหนังเข้ามาฉายในเมื่องไทย รุ่นแรก ๆ เท่าที่พอจะนึกได้ก็คือ
ปาเต [Pathe] แต่คนไทยถนัดเรียกกันจนติดปากว่า "ปาเต๊ะ" เหมือนชื่อของ โสร่ง   [Sarong]

(โสร่ง, ผ้าถุง, ซิ่น, ผ้าซิ่น, ผ้าไตร,)  คีย์สโตน [Keystone], วิตากร๊าฟ [Vitagraph], 
ไบโอกร๊าฟ   [Biograph], และ เอสซาเนย์   [Essanay],    ซึ่งปัจจุบันชื่อเหล่านี้กลายเป็นประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไปแล้ว  ตอนนั้นผมจำได้ว่าผู้คนในเมืองไทยรู้จักบริษัท ปาเต๊ะมากกว่าบริษัทอื่น  เมื่อใครเอ่ยถึง ปาเต๊ะจะต้องต่อท้ายว่าตราไก่แจ้ด้วยเสมอ

   พอเริ่มต้นม้วนจะมีไก่แจ้ออกมาโก่งคอขัน  ไม่ว่าจะเป็นหนังประเภทใด  พอขันเสร็จก็เริ่มมีตัวหนังสือภาษาอังกฤษขึ้นต้นไตเติ้ลเรื่อง  พอภาพยนตร์อวสาน[Omega,final, end,]หรือแจ๋วหลบก็ตามแต่ ก็จะมีพ่อไก่แจ้ตัวเดิมออกมาโก่งคอขันเหมือนเดิม เป็นการตบท้าย แต่น่าเสียดายยุคนั้นเป็นหนัีงเงียบสนิทเลยไม่ได้ยินเสียงของมัน (ค๊อก คะดู เด้นดู) มาได้ยินไก่ของฝรั่งร้องตอนท่องอาขยานแสดงว่าแม้แต่ไก่ไทยหรือไก่เทศก็ยังส่งเสียงร้องไม่เหมือนกัน หนังของบริษัทปาเต๊ะเป็นแบบนี้ทุกเรื่อง ผู้ชมในสมัยนั้นชอบอกชอบใจกันใหญ่ จึงพร้อมใจกันเรียกว่า "ปาเต๊ะตราไก่"
จนติดปาก


     เดิมทีบริษัทนี้ชื่อ "ปาเต แฟรส์" [Pathe' Freres] ดูเหมือนผู้ก่อตั้งเป็นคนฝรั่งเศส  เริ่มด้วยการสร้างหนังเบ็ดเตล็ด [Miscellaneous] มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๓ ต่อมาเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น
"ปาเต๊ะ พิกเจ้อร์ [Pathe' Pictures] สร้างหนังมันทุกประเภท ปกิณกะ, จับฉ่าย มั่วไปหมด แต่ก็ดูสนุกดีครับ สร้างแบบม้วนเดียวจบจนถึงหนังซีเรียล สามารถรวบรวมดาราที่มีชื่อเสียงไว้ในสังกัดไว้มาก


     ส่วนบริษัทวิตากร๊าฟ,  ไบโอกร๊าฟและเอสซาเนย์สร้างหนังประเภทเดียวกัน คือมีทั้งหนัง 
พีเจอร์ และซีเรียล โดยเฉพาะวิตากร๊าฟมีดาราหนังซีเรียลที่ได้รับความนิยมในขณะนั้นทั่วโลกชื่อวิลเลี่ยม ดันแคน  และอีดิธ  จอนสัน ดาราคู่นี้แสดงร่วมกันมากกว่าใคร ๆ ถ้าเป็นบ้านเราก็มิตรคู่กับเพชราอย่างไงอย่างงนั้น เสมือนว่าคู่พระคู่นางผู้ชมภาพยนตร์จะไม่ย่อมให้แยกจากกัน แต่แล้วในเวลาต่อมาก็ต้องแยกกันจนได้ แล้วที่แปลกหายหน้าไปจากจอเลยของเราก็เช่นกัน(เป็นสัจธรรมอะไร ๆ ก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีมาแล้วก็ไปแต่ไปให้สวย ๆ หน่อย) ประเทศไทยมีพวกนี้มากมายในหมู่ดารานักแสดง นักการเมืองอันนี้น่าห่วง แล้วท่านจะรู้สึกเมื่อตกเก้าอี้บางคนก็อาจจะยังไม่รู้สึกเพราะตายคาเก้าอี้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตไปก็เยอะ


     สำหรับคีย์สโตน นั้นแตกต่างกับบริษัทที่กล่าวมาแล้ว บริษัทนี้สร้างแต่หนังตลก ขนาดหนึ่งหรือ
สองม้วนจบเท่านั้น  เพื่อนำเข้าฉายประกอบในโปรแกรมประจำสัปดาห์ ซึ่งทุกรายการจะต้องมีหนังตลกเข้าฉายแทรกอยู่ด้วย  สมัยแรก ๆ จึงมีผู้แสดงตลกสังกัดอยู่ในบริษัทนี้มาก เช่น แม็ค เซนเนท, ชาลี แชปปลิน, บัสเตอร์ คีตัน, ฮาโรลด์ ลอยด์, สนั๊บ พอลลาร์ด, และฮารี่ แลงดอน,
เป็นต้น บทตลกที่นำมาแสดงก็เป็นบทตลกท่าทางในลักษณะจำอวด บางทีก็เป็นตลกอาศัยเร่ง
ความเร็วให้ดูลุกลี้ลุกลนวิ่งกันพล่าน แรก ๆ ก็ดูสนุกดีอยู่หรอก เมื่อซ้ำซากบ่อยเข้าก็กลายเป็นตลกฝืด
     ต่อมาค่ายบริษัทที่สร้างเรื่องพีเจอร์ก็พัฒนาเอาตลกเข้ามาแทรกอยู่ในหนังเรื่องด้วย อันจะทำให้ได้รสชาติ [Flavor] สนุกสนานขึ้นอีก โดยการหามุขตลกใหม่ ๆ มาแข่งขันในความคิด หรือไม่ก็สร้างหนังตลกให้เป็นเรื่องเป็นราว มีพระเอกนางเอกเสียเลย ด้วยเหตุนี้หนังตลกแบบคีย์สโตนก็เสื่อมโทรมลง  บรรดานักแสดงบทตลกที่มีอนาคตไกล เช่น ชาลี แชปปลิน, ฮาโรลด์ ลอยด์, 
บัสเตอร์ คีตัน และฮาร์รี่ แลงดอนต่างก็แยกย้ายไปแสดงหนังตลกพีเจอร์ให้บริษัทอื่น ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงและร่ำรวยไปตาม ๆ กัน  โดยเฉพาะชาลี แชปปลินโชคดีกว่าใคร ถึงกับตั้งบริษัทสร้างหนังเป็นของตนเอง แต่งเรื่อง  เขียนบท กำกับการแสดง รวมทั้งแสดงเอง เหมาทำเองหมดทุกอย่าง เป็นตลกที่ยึดอาชีพของเขาได้ยาวนานที่สุดอย่างรุ่งเรืองทุกสมัย



     นักดูหนังซีเรียลเมื่อชอบเรื่องที่ดูสนุกถูกใจต้องติดตามกันจนจบทุกราย  ต่างตั้งตาคอยดูต่ออาทิตย์หน้า
ครั้นรอถึงเวลากำหนดแต่ไม่มีเรื่องนั้นฉายให้ดู  ต้องเอาเรื่องอื่นมาฉายแทนทำให้ผิดหวังและเสียความรู้สึกไปบ้าง  หากเว้นไปเพียงอาทิตย์เดียวก็ไม่เป็นไรพอทนรอได้  ถ้าโดนเข้าสองสามอาทิตย์ยังไม่โผล่มาฉายให้ดูต่อก็ชักอารมณ์เสียต้องเข่นฆ่ากันทางวาจากันบ้าง


  
     จำได้ว่าเคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เ้กิดขึ้นในอดีตครั้งหนึ่งหนังที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ชื่อเรื่อง "ตาวัว" [The bull's Eyes] เป็นหนังเคาบอยยอดนิยมแห่งยุคที่เดียว  สมัยนั้นถ้าเอ่ยถึง "ตาวัว"  ใครที่ไม่รู้จักก็นับว่าเชยชะมัด ความเด่นประการแรกคือ  เอ็ดดี้ โปโล  แสดงนำชื่อนี้รับประกันว่าเรียกคนดูแน่นขนัดเต็มโรงได้ทันที 
ส่วนผู้ที่แสดงเป็นนางเอก หรือตัวผู้ร้ายไม่จำเป็นต้องเอยถึงก็ได้  เพราะภายในโรงไม่มีที่เพิ่มให้นั่งอีกแล้ว


    เมื่อ "ตาวัว" ฉายไปถึงตอนที่เก้าและที่สิบ ซึ่งฉายอาทิตย์ละสองตอนตามมาตรฐานที่นิยมในเมืองไทย
พอถึงอาทิตย์หน้าก็ไม่มีตอนที่สิบเ้อ็ดและตอนที่สิบสองฉายตามกำหนด  โดยจัดเอาหนังเรื่องอื่นเข้าฉายแทน  มีผู้สอบถามไปทางโรงก็ได้ความว่าหนังตอนที่รอดูกันนั้นฟิล์มยังมาไม่ถึง  โดยทางโรงก็ไม่ทราบสาเหตุ  ต่อมาอีกอาทิตย์หนึ่งหนังเรื่อง "ตาวัว"  ที่รอคอยกันมานานนั้นจึงเดินทางมาจากสิงคโปร์ถึงกรุงเทพฯ แต่คราวนี้ทางโรงไม่ฉายควบสองตอนอย่างเคย  ขยักออกมาฉายที่ละตอนตามธรรมเนียมที่ฉายในอเมริกาและอื่น ๆ จนกระทั้งจบเรื่องในตอนที่สิบห้า ซึ่งทางคนดูก็ไม่เห็นมีใครต่อว่า ขอให้ได้ดูจบเรื่องก็เป็นที่พอใใจแล้ว



     ตอนนั้นทางประเทศไทยเราก็มีการผลิตภาพยนตร์ไทยกันแล้ว ได้มีการถ่ายทำหนังไทยเป็นครั้งแรก ฉายดูที่โรงหนังญี่ปุ่นหลวง  เป็นหนังตลกสองม้วนจบ ชื่อเรื่อง "หมวกปลิว" เรืองย่อ ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้มีอยู่ว่า  มีสุภาพบุรุษนายหนึ่งแต่งตัวนุ่งผ้าม่วงสวมเสื้อราชปะแตนถุงเท้ารองเท้า สวมหมวกไหม ปานามา อันนับว่าอย่างทันสมัยใในเวลานั้น  เดินทอดน่องไปตามถนนตอนหน้าโรงเรียนราชินีล่าง พอก้าวขึ้นรถสายรอบเมืองหมวกสานเจ้ากรรมก็ปลิวตกไปที่ถนน  สุภาพบุรุษก็โดดลงไล่ตะครุบหมวกของตน แต่หมวกไม่ยอมให้จับ กลับปลิวหนีต่อไปอีก  สุภาพบุรุษก็ไม่ย่อท้อวิงไล่ตะครุบหมวกต่อไป  ตอนนี้เองได้สร้างความตลกขบขันให้ผู้ชม  โดยมีบุคคลต่าง ๆ ที่ผ่านมาพบต่างก็ได้ช่วยสุภาพบุรุษผู้นั้นไล่ตามหมวก ไปเป็นพรวน มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แขกขายถั่วมัน ๆ จีนลากรถ ตำรวจ ฯลฯ กว่าจะตะครุบหมวกได้ต้องผจญภัยต่าง ๆ ตาม ถนนที่ผ่าน ตกน้ำตกท่าไปกตลอดทาง
                               
                                        _________________________
สัมพันธ์ จันทร์ผา                               






 

     




























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น