วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คลี่ฟีลม์ส่องภาพ

              
     สมัยโน้นการฉายหนังกระทำได้เพียงคืนละรอบเดียว ฉาย กันตั้งแต่เช้าสายบ่ายเย็นค่ำดึกอย่างอย่างปัจจุบันหาได้ไม่    ครั้นนั้นมีกำหนดดังนี้    เริ่มตั้งแต่สองทุ่มและเลิกประมาณห้าทุ่มกว่า   บางโปรแกรมเพิ่มจำนวนหนังมากขึ้นก็ไปเลิกเอาสองยาม   ตามปกติหนังที่ฉายกำหนดให้โปรแกรมละสิบสองม้วน (ม้วนเล็กบ้างใหญ่บ้างแล้วแต่เนื้อหาของเรื่ิอง) เป็นมาตรฐาน    ถ้าฉายติดต่อเรื่อยไปรวดเดียวจบอย่างทุกวันนี้     ก็จะใช้เวลาเพียงชั่วโมงครึ่งก็เลิก     ที่ต้องทนแกร่วอยู่ในโรงหนังกว่าสามชั่วโมงก็เพราะทางโรงหนังมีเครื่องฉายเพียงเครื่องเดียว    ต้องเปิดไฟสว่างทั้งโรง  เพื่อเปลี่ยนหนังใหม่ทุกม้วนและถือโอกาสเติมไฟแก๊สสำหรับฉายหนังด้วย   ต่อมาจึงเปลี่ยนใช้ถ่านซึ่งทำขึ้นเพื่อฉายหนังโดยเฉพาะ   เปลื่องเวลาในการนี้ม้วนละหลายนาที    ตอนนี้เองทำให้เกิดตลาดการค้าย่อยในโรงหนัง

          รายการฉายของแต่ละโปรแกรมมีดังนี้     เริ่มด้วยหนังเบ็ดเตล็ดหนึ่งม้วน   ที่เรียกว่าเบ็ดเตล็ดเพราะจะเป็นหนังข่าวก็ไม่ใช่   จะเป็นหนังสารคดีก็ไม่เชิง  บางทีก็มีท่องเที่ยวเดินทางรวมอยู่ด้วย   ปนเปกันหลายรสสมกับคำว่าเบ็ดเตล็ด    หนังข่าวล้วนสมัยนั้นยังไม่มี   ต่อ
จากนั้นหนังตลกต้องมีทุกโปรแกรมขาดไม่ได้   มักจะม้วนเดียวจบ   หรืออย่างมากก็สองม้วน
โดยมากเป็นตลกแบบวิ่งกันให้พล่านด้วยสาเหตุต่าง ๆ ต่อด้วยหนังเรื่องสั้น ๆ จบในตัวขนาดยาวสี่หรือห้าม้วน  หนังประเภทนี้   ต่อมาขยายมากม้วนทวีขึ้น   จนกลายเป็นหลักสำคัญของโปรแกรม

          ส่งท้ายรายการเป็นหนังเรื่องยาวที่เรียกว่าซีเรียล   เรื่องประเภทนี้แบ่งฉายเป็นตอน ๆ 
ตอนหนึ่งมีสองม้วน   ตามปกติกำหนดให้ฉายสัปดาห์ละหนึ่งตอน   เมื่อจบตอนมีตัวหนังสืออังกฤษบอกไว้ข้อความว่า " โปรดค่อยติดตามชมตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า  ณ โรงภาพยนตร์
แห่งนี้ "  แต่ในเมื่องไทยฉายโปรแกรมละสองตอนรวมสี่ม้วน   และไม่ต้องรอถึงสัปดาห์หน้า
บ้านเราโปรแกรมหนังฉายระยะเวลาอันสั้น  เพราะคนดูจำนวนยังน้อย  ฉายนานวันนักไม่ได้
ปกติสมัยนั้นสัปดาห์หนึ่งแบ่งฉายสามโปรแกรม  คือ  จันทร์-อังคาร,  พุธ-พฤหัสฯ,  และศุกร์
เสาร์-อาทิตย์  ที่ลากเป็นสามวันได้เพราะมีวันหยุดงานรวมอยู่ด้วย

           เป็นอันว่าสมัยนั้นนักดูหนังเมื่องในไทยได้ดูหนังเรื่องยาวสัปดาห์ละหกตอน   แม้กระนั้น
ยังไม่ค่อยสมใจคนดู   ซึ่งมีความกระหายจะรู้เรื่องตอนต่อไปอย่างยิ่ง   เพราะเมื่อจะจบตอนหนึ่ง ๆ    พระเอกหรือนางเอกมีอันตกอยู่ในเหตุการณ์คับขันระหว่างมหันตภัยร้อยสี่พันอย่าง
เช่น  กำลังจะถูกยิง  อยู่ในที่ถูกระเบิด  ไฟไหม้  สะพานพัง  ตกเหว  รถไฟวิ่งเข้าชน  อะไร ๆ
เทือกนี้   ล้วนเป็นตอนหวาดเสียว  พระ้เอกหรือนางเอกจะตายมิตายแหล่  ยั่วให้คนใจหาย
ใจคว่ำ  อยากจะทราบว่ามีใครจะเป็นผู้มาช่วย  และช่วยได้ด้วยอาการอย่างไร  เป็นวิธีเรียก
คนดูมาเป็นขาประจำอย่างดี

            เมื่อหนังประเภทซีเรียลเกิดขึ้นมาใหม่ ๆ บริษัทผู้สร้างถ่ายทำเป็นเรื่องขนาดยาวเหยียด
เช่นเรื่อง  " เอแลน " [ The  Exploit  of  Alaine] ยาวสามสิบหกตอนรวมเจ็ดสิบสองสองม้วน  หากฉายตามระบบสัปดาห์ละตอนกว่าจะจบเรื่องก็กินเวลาเกือบปีครึ่ง  กว่าจะได้ดูตอนจบออกจะนานไปหน่อย  ต่อมาเรื่อง "มณีหยาดฟ้า" [ The Diamond From The Sky ] ลดลงเ้หลือสามสิบตอนยาวหกสิบม้วน  เข้่าใจว่าทางบริษัทผู้สร้างคงเห็นว่ายังยาวอยู่นั่นเอง  ทำให้เนื้อเรื่องอืดอาดยืดยาดเกินความจำเป็น   ต่อมาจึงมีการลดลงเหลือยี่สิบตอนจำนวนสี่สิบม้วนเช่นเรื่อง
"อ้ายเล็บเหล็ก" [ The  Iron  Claws ] และ "สืบราชสมบัติ" [ The  Broken  Coins ] เป็นต้น

              หนังเรื่องยาวเกินสี่สิบม้วนจบส่งมาฉายในเมืองไทยยืนพื้นอยู่ชั่วระยะหนึ่งจึงมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง  คราวนี้ตัดให้สั้นลงอีกเหลือสิบห้าตอนยาวสามสิบม้วน  คงจะอยู่ในเกณฑ์พอดีทั้งฝ่ายผู้สร้างและผู้ดู   ระบบนี้ยืนยงจนถึงยุคหนังพูด แต่การผลิตออกมาลดจำนวนน้อยเรื่องลงทุกที    และเป็นมาตรฐานเรื่อยมาตราบจนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง  
เมื่องไทยกับเมืองสร้างหนังชะงักการติดต่อประมาณสี่ปีเศษ  ภายหลังสงครามสงบ  ทราบว่า
การสร้างหนังประเภทซีเรียลได้ยุติลงปริยาย    เพราะผู้สร้า้งหันไปใส่ใจประเภทพีเจอร์อย่างเดียว  และขยายเรื่องให้ยาวออกไปจนใกล้จะกลายเป็นซีเรียลไปแล้ว   ปัจจุบันหากเรื่องใดได้รับความนิยมสูงก็สร้างต่อได้ในชื่อเดิม  เพียงแต่เติมคำว่าภาคสองเข้าไปก็ใช้ได้

             สมัยนั้นบริษัทสร้างหนังแทบทุกบริษัทนิยมสร้างซีเรียลคู่กันไปกับพีเจ้อร์   การค้นหาเรื่องมาสร้างหนังซีเรียลมีการเปลี่ยนแปลงกันมาหลายยุค    มีอยู่สมัยหนึ่งเกิดนิยมเรื่องที่มีตัวลึกลับเป็นตัวเอกขอวเรื่อง  อันตัวลึกลับนี้บางที่เข้าข้างฝ่ายพระเอกนางเอก   บางทีก็เข้าข้างฝ่ายคนชั่วอันหมายถึงพวกเหล่าร้ายประจำเรื่องนั่นเอง   สุดแล้วแต่ผู้สร้างจะผูกเรื่องให้เป็นไปทำนองใด    ลักษณะของตัวลึกลับมีหลายประเภท เช่น  ไม่มีตัวไม่มีตน  เห็นแต่ลูกตา  ได้แก่ตัวบังเงาเป็นมนุษย์ล่องหนหายตัวได้ในเรื่อง "บังเงา"ซึ่งเป็นต้นตระกูลของหนังประเภทล่องหนหายตัวได้เคยมีมาให้ดูกันแล้วตั้งแต่สมัยหนังเงียบเมื่อประมาณเจ็ดสิบปีบาง
ทีสวมถุงดำคลุมหน้าเป็นอ้ายโม่ง    เจาะรู้ไว้ให้เห็นลูกตา  เช่น เรือง "ดำทมิฬ" ทำเป็นหน้ากากปิดหน้า เช่นเรื่อง "หน้ากากม่วง" ทำเป็นที่เครื่องครอบหัวปิดหน้าแบบหมวกกันน๊อค
ปัจจุบันก็มีเช่น "เรือประหลาด" ทำเป็นหัวสิงโตครอบไว้   เช่นเรื่อง "มนุษย์สิง"ทำเป็น
หัวกระโหลกผีครอบหัวก็มี  เช่นเรื่อง "หน้ากากผี"ที่ร้ายหนักเข้าไปอีกทำเป็นหัวหมาครอบ
เช่นเรื่อง "โจรหน้าหมา" อย่างนี้ก็มี

              ตัวลึกลับซ่อนหน้าเหล่านี้มีค่าตัวแพงสำหรับผู้ดูหนังด้วย  ถ้าผู้ใดทายถูกว่าเป็นใครที่แสดงอยู่ในเรื่อง  จะได้สองร้อยบาทสด ๆ จากบริษัทเจ้าของโรงหนังทันที  โดยส่งคำทายไปยังโรงหนังตามที่ประกาศกำหนดไว้  ก่อนที่ฉายหนังตอนสุดท้ายของเรื่องนั้น  แต่ดูเหมือนส่วนมากทายผิด   พอเปิดหน้าตอนจบมักจะไม่ใช่  ทางบริษัทผู้สร้างหนังมีกลลวงหลอกล่อให้
เขวจนทายผิดไปตาม ๆ กัน  หรือถ้าทายถูกหลายคนก็ต้องพึ่งระบบแบ่งสันปันส่วน  วิธีมีตัวลึกลับให้ทายเป็นการล่อผู้คนมาดูหนังติดต่อกันทุกตอนได้มาก  เพราะต่างก็อยากได้ข้อมูล
เอาไว้ทาย  จะเหมือนที่ตนเก็งไว้หรือไม่

                ยังจะพอย้อนหลังจำกันได้ว่าเรื่องอ่านเล่นที่  สนุกสนานติดใจอย่างยิ่งกันสมัยหนึ่ง
เช่น  "แพรดำ"  "หน้าผี"  "บ้านเปรต"  "มือมืด" เหล่านี้  หลวงสารานุประพันธ์ผู้แต่งได้อิทธิพลมาจากหนังซีเรียลนั่นเอง    หนังประเภทมีตัวลึกลับยืนโรงอยู่ได้พักหนึ่งก็ค่อย ๆ เสื่อม
ลงแล้วก็มีแนวใหม่มาแทน     บางสมัยพากันหันไปสร้างจากบทประพันธ์ของนักเขียนเก่า ๆ 
มีชื่อเสียงดังมาแล้ว  ดังนั้นเรื่อง "ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์"   "โรบินสันครูโซ"  "แปดสิบวันรอบโลก"เหล่่านี้กลายเป็นหนังให้เราดูกันมาแล้วในยุคนั้น

                สมัยเด็กผมคนหนึ่งละที่หลงไหลหนังซีเรียลไม่ใช่ย่อย     อุตสาห์อดออมการกินเอาไปอุดหนุนโรงหนังอย่างสมัครใจ  ดารายอดนิยมของนักดูทั้งหลายครั้งกระโน้นคือ 
 เอ็ดดี้ โปโล,     เอลโม  ลินคอล์น,   และ  ฟรานซิส  ฟอร์ด  สามนามที่กล่าวถึงนี้แสดงเรื่องอะไรรับรองได้เลยว่า   คนดูแน่นโรงทุกที   ถ้าจะถามว่าำทำไมขลังถึงเพียงนั้น  คำตอบง่าย ๆ
คือชกเก่ง  บทบาทของ  เอ็ดดี้  โปโล   ต่อให้มีผู้ร้ายดาหน้าเข้ามาสักสิบคนก็ขอสู้  พ่อใช้มือ
ตะบุ้ยเปะปะสักพักเดียวพวกเหล่าร้ายหมอบราบคาบหมด  ระหว่างต่อสู้กันถ้า  เอ็ดดี้  โปโล
อยากจะยกใครทุ่มเล่นก็ทำได้ตามสบาย  ทั้ง ๆ ที่ตัวแกเองก็ไม่ใช่คนร่างใหญ่โตอะไรนัก
ส่วนบทบาทของ  ฟรานซิส  ฟอร์ด  ก็เด็ดขาดเหมือนกันในเชิงสู้กับคนหมู่มาก  ผิดกันหน่อย
ที่ไม่มีการยกคนทุ่ม  แต่ใช้วิธียูโดแทน  ใครแหลมเข้ามาไม่ว่าทางด้านหน้าหรือด้านหลัง
ฟรานซิส  ฟอร์ด จับฟาดข้ามหัวไปหมด  แต่ละท่ารวดเร็วสวยงามและคล่องเป็นว่าเล่น สำหรับ
เอลโม   ลินคอล์น คล้ายไปทาง  เอ็ดดี้  โปโล  โดยมีการยกคู่ต่อสู้ทุ่มเล่นเหมือนกัน  นายคนนี้
รูปร่างใหญ่  กล้ามเนื้้อขึ้นเป็นมัด ๆ ในการต่อสู้กับพวกเหล่าร้ายมักจะทำให้เสื้อผ้าขาดเป็นการอวดกล้ามไปในตัว

                  คู่ต่อสู้ต่อให้ใหญ่แค่ไหนจะต้องถูก เอลโม ลินคอล์น เอาแขนรัดคอได้ข้างละคน
สองคน    ที่นับว่าสำคัญมากคือ  เอลโมคนนี้แหละที่แสดงเป็นทาร์ซานคนแรกบนแผ่นฟิล์ม
เมื่อคนดูชอบพระเอกเป็นคนเก่ง  เพื่อให้สมกัน  นางเอกจำเป็นต้องเก่งด้วย  ตอนนั้นนางเอกชั้นหัวกระทิคือ   เพิล ไวท์,   แมรี่   วอลแคมป์,      และ     รูธ  โรแลนด์   ทั้งสามสาวนี้นักดูหนังยอมรับนับถือว่าผู้ชายอกสามศอกยังเป็นรองในเชิงต่อสู้   โดยเฉพาะ เพิล ไวท์  นั้นใครขืนเข้าปลุกปล้ำทำร้ายละก็เป็นโดนแน่แม่ใช้วิชายูโดทุ่มลงไปนอนแผ่หลาเอาง่าย ๆ หรือไม่ก็โดนหักแข็งหักขาด้วยวิชามวยปล้ำจนร้องโอ๊ก   แมรี้  วอลแคมป์และ รูธ  โรแลนด์  แม้เป็นรองแต่ฝีมือ
ไม่เบาเหมือนกันเป็นที่ประทับใจคนดู  ในฐานะผู้หญิ่งเก่ง     จนลืมไปว่านั่นคือการแสดงและดำเนินไปตามบทบาทที่ผู้กำกับกำหนดให้ทำ

                  ฉายานามที่นักดูหนังรุ่นเก่าตั้งให้ดาราที่ตนชอบก็หนักเอาการ  อย่าง เอ็ดดี้  โปโล
นักดูหนังทั้งหลายเรียกว่า   "อ้ายเอ็ด"    ตั้งแต่ผู้ใหญ่หัวหงอกจนกระทั้งเด็กตัวเปี๊ยก  ไม่ใช่
เกลียดชังหรือดูแคลน       แต่ชอบพอรักใคร่     อย่างสนิทสนมเป็นกันเองต่างหาก    ส่วน 
ฟรานซิส ฟอร์ด      ถูกเรียกว่า   "อ้ายลัน" เนื่องจากมีหนังเรื่องแรกที่นำมาฉายในเมืองไทย
ฟรานซิส  ฟอร์ด   แสดงเป็นตัวด๊อกเตอร์ลันด์ในเรื่องนั้น ต่อมาเมื่อ   ฟรานซิส  ฟอร์ด แสดงเรื่องอะไรก็ตาม        คนดูก็สมัครใจเรียก   "อ้ายลัน"      แทนชื่อจริงเสียรำ่ไป ตกลงนาม
ฟรานซิส  ฟอร์ด ไม่ค่อยมีใครรู้จัก   สำหรับ  เอลโม  ลินคอล์น  แปลกเหล่าไปหน่อยที่ถูกเรียก
ว่า "เอลโม"เฉย ๆ ไม่มี "อ้าย"  ขึ้นหน้า  ไม่ทราบเหมือนกันว่าเนื่องด้วยเหตุผลอันใด  มีผู้แสดงบทดาวร้ายได้ดีอีกคนชื่อ  วอร์เน่อร์  โอแลนด์  เป็นดาราที่เล่นหนังได้ทนทานตั้งแต่แรกเริ่มสมัยหนังเงียบ    เรื่อยมาจนถึงสมัยหนังพูด ก็ยังได้แสดงมีชื่อเสียงอยู่ในหนังนักสืบชุด
"ชาลี ชาน"  กระทั้งสิ้นชีวิต  วอร์เนอร์   โอแลนด์  แสดงเป็น "วูฟาง" ผู้ร้ายสำคัญใน"เอแลน"
เป็นเรื่องแรก   คนดูหนังรู้จักในนามนี้   ต่อมาไม่ว่าจะแสดงเรื่องอะไรอีกพอจำหน้าได้ก็เรียก
"อ้ายวูฟาง"แทนชื่อจริงตะพึดไป

                   คำแทนชื่อสำหรับดาราหญิงนั้นก็ตั้งชื่อให้ในลักษณะเดียวกัน  เช่น เพิล ไว้ท์
ก็เรียกว่า นางเพิล หรือ นางเอแลน เพราะแสดงในเรื่อง"เอแลน"เป็นครั้งแรก แมรี่  วอลแคมป์
ก็เรียกกันว่า นางลีเบอร์ตี้เพราะเริ่มแสดงเป็นนางเอกในหนังเรื่องนั้น บางทีก็ใช่้ว่า "อี" เช่น
เดียวกับคำว่า"อ้าย" นำหน้าดาราชาย

                 ผมได้ดูหนังที่ เอ็ดดี้ โปโล แสดงครั้งแรกในเรื่อง       "สืบราชสมบัติ"     ซึ่ง
ฟรานซิส  ฟอร์ด แสดงนำ  ส่วนเอ็ดดี้  โปโล  ยังได้รับบทเป็นตัวประกอบ  ต่อมาได้เขยิบขึ้น
จนได้เป็นพระเอกเต็มตัวในเรื่อง "ฝีมอ"เรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้ เอ็ดดี้  โปโล เป็นเรื่อง"ตาวัว"
ครั้ง    "อ้ายเอ็ด"   และ    "อ้ายลัน"    กำลังมีชื่อเสียงหอมอยู่นั้นเด็กรุ่น ๆ   อยากทำตัวเป็น 
"อ้ายเอ็ด" และท  "อ้ายลัน"  มากกว่าจะคิดเดินตามนักเรียนหญิง  การเล่นที่โปรดปรานที่สุด
ได้แก่การเล่นโปลิศจับขโมย  ซึ่งเลียนแบบมาจากหนัง  พวกโปลิศคือฝ่ายพระเอก  มีผู้ช่วย
สองสามคน  ฝ่ายผู้ร้ายมีจำนวนเท่า ๆ กัน  ตำแหน่งนางเอกตัดทิ้งเสียเพราะเห็นว่าไม่จำเป็น  
บางทีก็มีเหมือนกันโดยสมมุติเอาคนเล็ก ๆ หน้าขาว ๆ หน่อย ในหมู่ที่เล่นกันนั้นต้องมีคนหนึ่ง
แสดงตัวเป็นคนแข็งแรงกว่าเพื่อนจะได้รับตำแหน่งพระเอก 

                  ในการเล่นต้องมีการต่อสู้กับคนหลายคน  แล้วมีการปล้ำกันหลอก ๆ  บางทีเกิดพลาดพลั้งถึงกับปากคอแตกหรือเลือดกำเดาออกก็เคยมี  ว่าที่จริงแล้วใคร ๆ  ก็อยากเป็น
"อ้ายเอ็ด  หรือ  อ้ายลัน "  เพราะเป็นตำแหน่งมีเกียรติ์ เมื่อไม่มีใครแต่งตั้งก็สถาปนาตนเอง
เป็น "อ้ายเอ็ด  หรือ  อ้ายลัน" ตามใจชอบ  บางที่ยืนอยู่เฉย ๆ  มีใครคนหนึ่งตรงเข้ามากอดเอว
ทำท่าจะยกทุ่มแต่ความจริงยกไม่ไหวหรอก  นั่นแสดงว่า "อ้ายเอ็ด" มาแล้ว หรือยืนอยู่ดี ๆมี
ใครคนหนึ่งมาตวัดคอเอียงไหล่ทำท่าจะเหวี่ยงทุ่มตามท่ายูโดนั่นแสดงว่า "อ้ายลัน"มาแล้ว
ฉะนั้นต้องระวังตัวเอาเองเพราะมี "อ้ายเอ็ด และั อ้ายลัน"อยู่รอบด้าน เด็ก ๆ พยายามเอาอย่าง
ทุกรูปแบบ เช่น "อ้ายเอ็ด" หวีผมเป๋ เวลาชกผมจะลงมาปรกหน้าต้องสลัดผมขึ้นบ่อย พวกเด็กก็จำอย่างเอาไปทำบ้างเมื่อ  "อ้ายเอ็ด"แสดงเป็นคาวบอยชอบใส่เสื้อเชิ้ตลายหมากรุกก็ถูกตามเอาอย่างอีก    สมัยนั้นผ้าอย่างที่ว่าหายากจึงใช้ผ้าขาวม้าตาดำสลับขาวมาตัดเสื้อใส่อย่าง "อ้ายเอ็ด" พอฉุยฉายโก้กันไปได้พักหนึ่ง

                   พอจำได้ว่าผมดูหนังที่เอ็ดดี้  โปโล  แสดงเรื่องสุดท้ายคือ "ไซโคลน  สมิท "ซึ่งตอนนั้นหนังเงียบใกล้จะเข้าสู่ยุคหนังพูด   ต่อมาก็ไม่เห็นแสดงเรื่องอะไรอีก  และหายหน้าไปจากวงการโดยมีดาราใหม่ขึ้นมาแทน   วิวัฒนาการของภาพยนตร์นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ 
หลาย ๆ อย่าง  ส่วน ฟราซิส  ฟอร์ด ก็หายหน้าไปเช่นเดียวกัน

                  สมัยหนังซีเรียลรุ่งเรื่อง   พอดีกับยุคลำตัดกำลังเฟื่อง  นักลำตัดเอาชื่อเรื่องหนังต่าง ๆ  มาแต่งกลอนลำตัดร้องกันเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย  ผมจำบทเนื้อที่เขาร้องกันไม่ได้
แต่จำตอนบทรับได้แม่นยำดังนี้

             "เพาลิน,  นิลนาวี,  ลีเบอร์ตี้,  มณีหยาดฟ้า
หน้ากากม่วง  และ  ยูน  มัวร์  อีกทั้ง  ตาวัว   ที่สั่งเข้ามา
โจ๊ะ ๆ  พรึม ๆ "

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น